กล้วยไข่เชื่อม พร้อมกะทิราดที่เข้มข้น หวานมัน ..... อีกหนึ่งเมนูขนมหวานๆ สไตล์ไทยๆ ที่ทำง๊ายง่าย หากใครสนใจ มาติดตามชมกันเลยค่ะ
"กล้วยไข่เชื่อม" ... เป็นขนมหวานอย่างนึงค่ะที่เวลาไม่รู้ว่าจะทำขนมอะไรไว้กินหลังกินข้าวดี ก็จะทำขนมนี้กันล่ะค่ะ ... ถ้าจะถามว่าทำบ่อยขนาดไหน ก็คงจะตอบได้ว่าทำประมาณอาทิตย์เว้นอาทิตย์เลยนะคะ เหตุผลก็เพราะว่ามันทำง๊ายยยง่าย อีกทั้งที่วัตถุดิบทั้งหลายแหล่ที่ใช้ทำ ไม่ว่าจะกล้วยไข่ห่ามๆ น้ำตาลทราย มะพร้าวขูด .. พวกนี้ .... ที่บ้านพิมก็มักจะมีติดบ้านอยู่เสมอๆ เพราะงั้นเมื่อเวลานึกอยากจะทำ ก็เลยทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปหาอะไรที่ไหนไกล...... และวันนี้ก็เป็นอีกวันนึงที่บ้านพิมทำกล้วยไข่เชื่อมกัน ก็เลยขอถ่ายรูปวิธีการทำเอามาฝากเพื่อนๆ ที่ยังไม่เคยทำ (และก็เคยแล้ว) ให้ดูกันน่ะค่ะ
และก็นี่ค่ะ ... กล้วยไข่เชื่อม .. บ้านพิม สีเหลืองอ๋อย น่ากินมากๆ เลย (เน๊าะ)
ซึ่งวันนี้จะว่าไป ... พิมไม่ขอพูดพล่ามทำเพลงล่ะนะคะ เนื่องจากหันหน้าไปดูนาฬิกาแล้วก็พบว่ามันเที่ยงคืนกว่าแล้ว ขืนพูดเยอะๆ บรรยายแยะๆ เกรงว่ากว่าจะเสร็จ และกว่าจะได้นอน คงปาไปไม่ต่ำกว่าตี 1 1/2 แน่นอน ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นสงสัยพรุ่งนี้พิมคงจะตื่นตี 5 อย่างที่ตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ไม่ไหวแน่ ๆ เพราะงั้นขอลุยไปที่สูตรและก็วิธีทำตามแบบของพิมกันเลยล่ะกันนะคะ
:: ส่วนประกอบ/วัตถุดิบ ::
- กล้วยไข่ห่ามๆ 2 หวี
- น้ำตาลทรายขาว 450 กรัม
- น้ำสะอาด 400 กรัม
- หัวกะทิ 2 ถ้วย
- แป้งอเนกประสงค์ 1.5 ชต.
- เกลือป่น หยิบมือ
- น้ำตาลทรายขาว 450 กรัม
- น้ำสะอาด 400 กรัม
- หัวกะทิ 2 ถ้วย
- แป้งอเนกประสงค์ 1.5 ชต.
- เกลือป่น หยิบมือ
ป.ล. พิมถ่ายรูปมาไม่ครบนะคะ แบบว่าสถานการณ์และเวลาไม่ค่อยอำนวย
:: วิธีทำ ::
เริ่มต้นเราก็มาทำหัวกะทิสำหรับราดหน้ากล้วยไข่เชื่อมกันไว้ก่อนเลยค่ะ ... โดยพิมมีวิธีทำให้เลือกทำ 2 แบบค่ะ- แบบที่ 1 สำหรับหัวกะทิที่คั้นโดยไม่ใช้น้ำ .... ให้เอาหัวกะทิผสมเกลือป่นนิดหน่อย แล้วนำไปตั้งไฟอ่อน คนไปเรื่อยๆ ด้วยความใจเย็น สักพักกะทิจะข้นขึ้นเองค่ะ แต่ต้องใช้เวลาหน่อยนะคะ
- แบบที่ 2 สำหรับหัวกะทิที่คั้นแบบใส่น้ำ / กะทิกล่อง .... ให้เอาหัวกะทิ 2 ถ้วย ผสมกับแป้งข้าวอเนกประสงค์ 1.5 ชต. และเกลือป่นหยิบมือ (นิดหน่อย ใส่พอให้มีรสเค็มปะแหล่มๆ) ค่ะ .... คนๆ ให้แป้งละลายเข้ากับหัวกะทิก่อน แล้วค่อยนำไปตั้งไฟกลางๆ .. ระหว่างตั้งไฟก็ใช้ตะกร้อมือคนเรื่อยๆ จนกระทั่งแป้งสุก กะทิข้นก็เป็นอันใช้ได้ค่ะ
ซึ่งพอกะทิสุกข้นแล้ว ก็ยกลงจากเตา ตั้งพักไว้ให้เย็นค่ะ
จากนั้นหันมาเตรียมทำตัวกล้วยไข่เชื่อมกัน ต่อ ..... โดยการเลือกใช้กล้วยไข่ห่าม ๆ หน่อย ออกสีเขียวมากกว่าสีเหลืองแบบในภาพค่ะ (แต่สำหรับคนที่ชอบกล้วยไข่เชื่อมนิ่ม ๆ ก็สามารถจะเลือกใช้กล้วยไข่ที่มีสีเหลืองมากกว่านี้หน่อยก็ได้ค่ะ แต่อย่าให้เหลืองมากไป ไม่งั้นเวลาเอาไปเชื่อม มันจะเละค่ะ)
ป.ล. ถ้าไม่ชอบกล้วยไข่ ใช้กล้วยหักมุก หรือกล้วยงาช้างเชื่อมแทน ก็อร่อยไม่แพ้กันเลยค่ะ
ก็ปอกเปลือกกล้วยไข่นะคะ (ยิ่งเขียวมากยิ่งปอกยาก) ถ้ามีเส้นดำๆ ก็ดึงออกให้หมด แล้วตัดหัวตัดท้ายสักหน่อยเพื่อความสวยงาม ... ปอกเสร็จก็ใส่ลงไปแช่ไว้ในน้ำที่ผสมน้ำเกลือนิดหน่อย เพื่อไม่ให้กล้วยเปลี่ยนเป็นสีคล้ำๆ อ่ะค่ะ
ป.ล. หากปอกแล้วเชื่อมเลย ก็ไม่ต้องแช่น้ำผสมเกลือค่ะ
จากนั้นก็หันมาเคี่ยวน้ำเชื่อมไว้สำหรับเชื่อมกล้วยค่ะ โดยการผสมน้ำตาลทรายกับน้ำสะอาดลงในภาชนะที่เราจะใช้เชื่อมกล้วย
ซึ่งในวันนี้พิมใช้กระทะธรรมดานะคะ หากเพื่อนๆ มีกระทะทองจะใช้กระทะทองก็ได้ค่ะ แต่ถ้าไม่มีใช้กระทะธรรมดาแบบพิม หรือหม้อ หรือพวกกระทะเทฟล่อนก็ได้เหมือนกันค่ะ
ผสมน้ำกับน้ำตาลทรายเข้าด้วยกันแล้วนำไป ตั้งไฟ คนให้ละลาย (จะได้เป็นน้ำเชื่อม) แล้วนำมาลงกรองด้วยผ้าขาวบางหรือกระชอนตาถี่ๆ ครั้งนึง จากนั้นก็เทใส่กลับคืนหม้อ แล้วนำไปตั้งไฟเคี่ยวต่อ โดยเราจะเคี่ยวน้ำเชื่อมไปเรื่อย ๆ ค่ะ...แรกๆ ตอนน้ำเชื่อมยังใสอยู่ เราจะเห็นว่าฟองตอนเดือดเค้าจะเป็นฟองค่อนข้างใหญ่ แต่เมื่อยิ่งน้ำเชื่อมข้นมากขึ้นเท่าไหร่ ฟองก็จะยิ่งเล็กลงค่ะ
ซึ่งเราจะเคี่ยวน้ำเชื่อมให้ลดลงไปประมาณ 1/4 นะคะ .... ก็จะได้น้ำเชื่อมที่มีความเหนียวได้ที่ แล้วเราก็ค่อยเอากล้วยไข่ที่เราปอกไว้ใส่ลงไปเชื่อมค่ะ
การเชื่อมกล้วยเนี่ยเราจะต้องใจเย็นๆ นะคะ จะใจร้อนเร่งไฟแรงๆ กะว่าไฟแรงแป๊บเดียวจะใช้ได้ ... อันนี้ไม่ใช่เลยค่ะ
การเชื่อมกล้วยไข่ (หรือเชื่อมอะไรก็แล้วแต่) ให้ใช้ไฟกลางๆ ค่อนมาทางอ่อนสักหน่อย เพื่อค่อยๆ ให้น้ำเชื่อมซึมเข้าไปในเนื้อกล้วย พร้อมกับความร้อนจากน้ำเชื่อมที่จะทำให้กล้วยค่อย ๆ ระอุ และก็สุกในที่สุดพร้อมๆ กับซึมซับน้ำเชื่อมได้เต็มที่
และก็นี่นะคะ ... กล้วยไข่เชื่อม ที่เชื่อมได้ที่แล้ว หน้าตาจะเป็นประมาณนี้ (มีสีเหลืองเข้มสม่ำเสมอกัน) ...... ซึ่งถ้าหากเราใช้กล้วยไข่ห่ามๆ หน่อย กล้วยเชื่อมที่ได้ก็จะมีลักษณะแบบนี้อ่ะค่ะ ก็คือ เนื้อไม่นิ่มมาก หวาน หอม และก็ชุ่มไปด้วยน้ำเชื่อมทั้งลูก ..... แต่ถ้าหากเราใช้กล้วยสุกเหลืองกว่านี้ กล้วยไข่เชื่อมที่ได้ อาจจะลักษณะแตกหักเป็นช่วงๆ และเนื้อจะค่อนข้างนิ่ม ซึ่งบางคน เช่น แม่ของพิม จะชอบมากกว่ากล้วยไข่เชื่อมแบบในภาพนี่อ่ะค่ะ
ดูกันอีกทีใกล้ๆ .... เมื่อเชื่อมได้ที่ จะเงาเป็นประกาย ปิ๊งๆๆๆ เลยค่ะ
ที่นี้เวลาจะกิน .... บางคนก็ชอบกินกล้วยไข้เชื่อมเพียว ๆ ไม่ต้องราด ไม่ต้องทำอะไรเลย แต่พิมชอบแบบราดด้วยหัวกะทิข้นๆ เยอะๆ หน่อยอย่างในภาพนี้มากกว่าอ่ะค่ะ
และสำหรับจานนี้ ..... พิมขอยกให้เพือ่นๆ ทุกคนที่เข้ามาดูขนมหวานเมนูนี้เลยนะคะ ^__^
รับสักลูก .......... ไหมค่ะ ^^
ก็ .. ถ้าเพื่อนๆ คนไหนสนใจลองไปทำดูนะคะ ไม่ยากจริงๆ ค่ะ ... แรกๆ ทำอาจจะกะจังหวะไม่ถูกว่ามันจะเชื่อมได้ที่ตอนไหน แต่ทำๆ ไปเดี๋ยวก็เก่งเองค่ะ ... พิมรับรอง ^^ ... แล้วเจอกันใหม่เมนูหน้านะจ๊ะ ตอนนี้ไปนอนก่อนล่ะค่า
ป.ล. แถม ๆ...... บางทีพิมก็อยากเปลี่ยนวิธีกินกล้วยไข่เชื่อมบ้าง ด้วยการเอาน้ำกะทิธรรมดาๆ นี่แหละค่ะ ไปต้มให้สุก แล้วก็เอากล้วยไข่เชื่อมใส่ลงไป ตั้งไฟให้เดือดอีกที ... ก็ปิดไฟ ตักขึ้นใส่ถ้วย ราดหัวกะทิข้นๆ ... กลายเป็นกล้วยไข่บวดชีประยุกต์ ..... ก็อร่อยไปอีกแบบนะคะ ^^
No comments:
Post a Comment