นักปราชญ์คนหนึ่งเห็นผู้ชายสองคนขี่ม้าอย่างเชื่องช้ามากผิดปกติ จึงเข้าไปถามด้วยความสงสัย ปรากฏว่าชายทั้งสองคนคือเจ้าชายของสองเมือง ทั้งสองคนกำลังพนันว่า ผู้ที่ขี่ม้าถึงจุดหมายปลายทางก่อน คนนั้นจะแพ้ และต้องยกเมืองให้อีกฝ่าย ดังนั้นเจ้าชายทั้งสองจึงต้องขี่ม้าอย่างช้าที่สุด เพื่อไม่ให้ถึงเส้นชัยก่อน เมื่อนักปราชญ์ได้ยินดังนั้น จึงพูดประโยคหนึ่งแก่เจ้าชายทั้งสอง หลังจากที่เจ้าชายทั้งสองได้ยินดังนั้น ก็รีบควบม้าอย่างเร็วที่สุด ปริศนานี้คือ นักปราชญ์พูดอะไรกับเจ้าชาย ?
บางครั้งการแก้ปัญหาหรือหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องยาก ถ้าเรายังใช้มุมมองแบบเดิม ๆ แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองด้วยการคิดตรงข้ามหรือคิดย้อนกลับ ก็อาจทำให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ หรือ แก้ปัญหาได้อย่างง่ายดาย ในปริศนาข้างบน นักปราชญ์ใช้วิธีคิดแบบตรงข้ามโดยเสนอคำตอบที่ทำให้เจ้าชายทั้งสองได้ฉุกคิด และเปลี่ยนมุมมองของการแก้ปัญหา โดยที่กติกายังเหมือนเดิม คือ ผู้ที่ขี่ม้าถึงเส้นชัยก่อน ผู้นั้นแพ้ คำแนะนำของนักปราชญ์ก็คือ ให้เจ้าชายสลับม้ากันขี่ ดังนั้น ม้าของใครถึงเส้นชัยก่อน เจ้าของม้าจะเป็นผู้แพ้นั่นเอง
บางครั้งการตั้งคำถามตรง ๆ ทำให้เราคิดคำตอบไม่ออกหรือคิดได้น้อย แต่ถ้าเราตั้งคำถามในทางตรงกันข้าม เราอาจคิดคำตอบได้มากมาย เช่น ถ้าเราต้องการสมัครและทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง แทนที่เราจะตั้งคำถามว่า "ฉันจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้บริษัทรับฉันเข้าทำงาน" ลองตั้งคำถามตรงข้ามว่า "ทำอย่างไรบริษัทจะปฏิเสธไม่ให้ฉันเข้าทำงาน ?" ผมเชื่อว่าเราคิดคำตอบได้มากมายครับ เช่น ไปสาย แต่งตัวไม่เรียบร้อย ตั้งเงินเดือนสูงโอเวอร์ จีบกรรมการสมัครงาน พาสัตว์เลี้ยงเข้าห้องสัมภาษณ์ ฯลฯ และถ้าเราย้อนกลับคำตอบเหล่านั้น คือ "ไปตรงเวลา แต่งตัวเรียบร้อย ตั้งเงินเดือนที่เหมาะสม ไม่พูดจาชู้สาว ไปคนเดียว" ก็คือคำตอบของคำถามว่า "ฉันจะทำให้บริษัทรับฉันเข้าทำงานได้อย่างไร" นั่นเอง
ถ้า ท่านผู้อ่านมีขวดซอสมะเชือเทศ คงสังเกตได้ว่า เวลาที่เราใช้ขวดซอสไปนาน ๆ ซอสมักติดก้นขวด และทำให้การเทซอสยากขึ้น ดังนั้นคนจำนวนมากจึงวางขวดกลับด้าน คือ วางตั้งบนฝาขวด เพื่อให้เทซอสได้สะดวกขึ้น บริษัทซอสมะเขือเทศแห่งหนึ่งสังเกตเรื่องนี้ จึงทำขวดซอสมะเขือเทศ โดยทำฉลากกลับด้าน เพื่อให้ลูกค้าตั้งขวดกลับด้านได้ทันที นี่คือตัวอย่างการคิดตรงข้ามที่เป็นรูปธรรม
ฉลากในซอสมะเขือเทศแบบกลับหัว
สมัยที่ผมเรียนวิชาอัลกอริทึม (Algorithm เป็นวิชาหนึ่งในศาสตร์คอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน วิธี) อาจารย์ผมสอนว่า เราต้องมองปัญหาจากหลาย ๆ มุม จึงจะแก้ปัญหาได้ และพูดถึงฉากที่มีชื่อเสียงมากฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Dead Poets Society โรบิน วิลเลียมส์แสดงเป็นครูสอนวิชากวีในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ฉากที่อาจารย์ผมพูดถึงคือโรบิน วิลเลียมส์ยืนบนโต๊ะเรียน แล้วท้าทายให้นักเรียนทุกคนเดินขึ้นมายืนบนโต๊ะหน้าห้องเรียน เพื่อให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง นี่ก็เป็นตัวอย่างของการคิดหรือมองในทางตรงกันข้ามเช่นกันครับ บางครั้งเราจะชินชากับมุมมองของเรา แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองเป็นอีกด้าน เราอาจเห็นอะไรใหม่ ๆ ที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ทั้ง ๆ ที่มันอยู่ต่อหน้าเรานี่เอง
ฉากที่โด่งดังจากภาพยนตร์ Dead Poets Society
ลอง อ่านปริศนาอีกเรื่อง ที่ต้องใช้วิธีคิดแบบตรงข้ามคล้าย ๆ กับปริศนาของนักปราชญ์ ผมไม่เฉลยนะครับ เพราะเชื่อว่าไม่เกินความสามารถของท่านผู้อ่านแน่นอน !
ในเมืองแห่งหนึ่ง มีชาวนาคนหนึ่งที่มีลูกสาวสวยมาก ชาวนาคนนี้ติดหนี้จำนวนมากของเศรษฐีเจ้าเล่ห์คนหนึ่ง เศรษฐีคนนี้เห็นลูกสาวชาวนาสวยมาก จึงยื่นข้อเสนอแก่ชาวนาว่า "อยากได้ลูกสาวชาวนาเป็นภรรยา โดยจะเสี่ยงดวงต่อหน้าคนทั้งเมืองด้วยการใส่ลูกหินสีขาวและสีดำอย่างละลูกใน ขวดโหล แล้วให้ลูกสาวหยิบลูกหิน ถ้าลูกสาวหยิบได้ลูกหินสีขาว เศรษฐีจะปล่อยหนี้ทั้งหมดของชาวนา ชาวนาจะเป็นอิสระ และลูกสาวก็ไม่ต้องเป็นภรรยาของชาวนาด้วย แต่ถ้าลูกสาวหยิบลูกหินสีดำ ลูกสาวจะต้องเป็นภรรยาของเศรษฐี แต่จะปล่อยหนี้ชาวนาให้" ทั้งชาวนาและลูกสาวต่างก็เห็นดีด้วย
เมื่อถึงวันเสี่ยงดวงต่อหน้าคนทั้งเมือง ลูกสาวชาวนาบังเอิญเห็นว่า คนของเศรษฐีใส่ลูกหินสีดำสองลูกในขวด ซึ่งผิดกติกาที่กำหนดว่าจะมีลูกหินสีดำและสีขาวอย่างละลูกเท่านั้น แต่ทันใดนั้นลูกสาวชาวนาก็เกิดไหวพริบ ไม่ได้โวยวายแต่ประการใด ยังคงหยิบลูกหินขึ้นมาต่อหน้าคนทั้งเมือง ปรากฏว่า ลูกสาวชาวนาสามารถทำให้พ่อเป็นอิสระ และตนเองไม่ต้องเป็นภรรยาเศรษฐีขี้โกงด้วย คำถามคือ ลูกสาวชาวนาสามารถเอาตัวรอดได้อย่างไร โดยไม่ผิดหรือเปลี่ยนกติกาใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่เปลี่ยนลูกหินด้วย ?
ในเมืองแห่งหนึ่ง มีชาวนาคนหนึ่งที่มีลูกสาวสวยมาก ชาวนาคนนี้ติดหนี้จำนวนมากของเศรษฐีเจ้าเล่ห์คนหนึ่ง เศรษฐีคนนี้เห็นลูกสาวชาวนาสวยมาก จึงยื่นข้อเสนอแก่ชาวนาว่า "อยากได้ลูกสาวชาวนาเป็นภรรยา โดยจะเสี่ยงดวงต่อหน้าคนทั้งเมืองด้วยการใส่ลูกหินสีขาวและสีดำอย่างละลูกใน ขวดโหล แล้วให้ลูกสาวหยิบลูกหิน ถ้าลูกสาวหยิบได้ลูกหินสีขาว เศรษฐีจะปล่อยหนี้ทั้งหมดของชาวนา ชาวนาจะเป็นอิสระ และลูกสาวก็ไม่ต้องเป็นภรรยาของชาวนาด้วย แต่ถ้าลูกสาวหยิบลูกหินสีดำ ลูกสาวจะต้องเป็นภรรยาของเศรษฐี แต่จะปล่อยหนี้ชาวนาให้" ทั้งชาวนาและลูกสาวต่างก็เห็นดีด้วย
เมื่อถึงวันเสี่ยงดวงต่อหน้าคนทั้งเมือง ลูกสาวชาวนาบังเอิญเห็นว่า คนของเศรษฐีใส่ลูกหินสีดำสองลูกในขวด ซึ่งผิดกติกาที่กำหนดว่าจะมีลูกหินสีดำและสีขาวอย่างละลูกเท่านั้น แต่ทันใดนั้นลูกสาวชาวนาก็เกิดไหวพริบ ไม่ได้โวยวายแต่ประการใด ยังคงหยิบลูกหินขึ้นมาต่อหน้าคนทั้งเมือง ปรากฏว่า ลูกสาวชาวนาสามารถทำให้พ่อเป็นอิสระ และตนเองไม่ต้องเป็นภรรยาเศรษฐีขี้โกงด้วย คำถามคือ ลูกสาวชาวนาสามารถเอาตัวรอดได้อย่างไร โดยไม่ผิดหรือเปลี่ยนกติกาใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่เปลี่ยนลูกหินด้วย ?
No comments:
Post a Comment