สวัสดีครับน้องๆ ชาว Dek-D.com ทุกๆคน วันนี้พี่เอมตื่นมาพบกับลมหนาวของกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในรอบปี!!! (แต่ดันหนาว แล้วก็เปียกฝนด้วยนี่สิที่ไม่ชอบเลย) ถ้าเป็นไปได้อยากให้อากาศเย็นสบายๆ แบบนี้ไปทั้งปีเลยนะครับ (แต่ถ้าเราไปซื้อเสื้อกันหนาวเมื่อไร รับรองว่า มันจะหนาวอยู่ไม่กี่วันหรอก) ยังไงน้องๆภาคอื่นที่หนาวมากๆ อย่าลืมหาเสื้อผ้ามาใส่ให้อุ่นๆ นะครับ เดี๋ยวไม่สบายแล้วจะอดออกไปถ่ายรูปท้าลมหนาว เสียเปล่าๆ!
ในสัปดาห์ที่แล้วพี่เอมได้แนะนำเทคนิคเกี่ยวกับเรื่อง “รูรับแสง” ไปซึ่งค่อนข้างเป็นทฤษฎีที่น่าปวดหัวพอควร (ฮ่าๆ) ส่วนในสัปดาห์นี้ นั้นเป็นเรื่องผลลัพธ์ของรูรับแสงขนาดต่างๆ ที่จะมีผลต่อภาพของเรา ว่ามันจะทำให้ภาพของเราสวยขึ้นอย่างไรกัน
ขนาดของรูรับแสงจะส่งผลถึงขอบเขตความคมชัดของภาพ หมายความว่า
รูรับแสงยิ่งกว้าง(ตัวเลขน้อย เช่น F 2.8) จะทำให้ขอบเขตความคมชัดของภาพน้อย หมายความว่า ภาพนั้นจะชัดแค่เฉพาะส่วนที่เราโฟกัสไว้ ส่วนที่เหลือก็จะเบลอทั้งหมด เรียกง่ายๆว่า ภาพสไตล์ “หน้าชัด หลังเบลอ”
รูรับแสงยิ่งแคบ(ตัวเลขมาก เช่น F 22) จะทำให้ขอบเขตความคมชัดของภาพมาก หมายความว่า ภาพนั้นจะชัดทั้งภาพ มักใช้กับการถ่าย "ภาพวิวทิวทัศน์"
ลองสังเกตดูที่ภาพนะครับ พื้นที่สีส้มหมายถึงระยะที่ภาพจะชัด ที่f2.8 ภาพจะมีส่วนที่จะชัดน้อยมาก ถ้าเทียบกับ f22 ที่มีพื้นที่สีส้มยาวมาก
ดังนั้นถ้าเราอยากละลายฉากหลังให้เบลอมากๆ ก็ควรที่จะเลือกรูรับแสงให้กว้างเข้าไว้นะครับ เราก็จะได้ภาพที่สวยสมใจอยากแล้วละ
แต่นอกจากความกว้างของรูรับแสงแล้ว ระยะของเลนส์ก็มีส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความเบลอเช่นกัน
หากน้องๆ อยากได้ภาพฉากหลังที่เบลอละลายมากๆจริง ก็ต้องปรับซูมเลนส์ไปเยอะๆ พร้อมกับเลือกรูรับแสงที่กว้างที่สุดนะครับ :D
No comments:
Post a Comment